กลับไปหน้าแรก

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

เลือกลายแบบไหนถึงจะดี?

การเลือกรอยสักมันไม่มีอะไรถูกหรือผิดนะ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำพูดเก่าๆว่าอย่าสักอะไรพร่ำเพรื่อ ถ้าจะสักทั้งเราจะต้องสักสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ มีคุณค่าชวนให้เราระลึกถึง โอเค มันก็ใช่ หลายๆคนทำแบบนั้น แต่การที่เราเลือกสักรูปอะไรเพราะเราแค่คิดว่าเราชอบมัน มันสวยดี ไม่ได้มีความหมายอะไรยิ่งใหญ่ในชีวิตมันก็ไม่ผิดเหมือนกัน เราเองยอมรับว่ากังวลมากๆที่จะสักอะไรก็ได้ที่เราแค่รู้สึกชอบมัน เรากลัวเปลืองเนื้อที่ เรากลัวว่าเราจะเสียเนื้อที่ไปกับอะไรที่ไม่ได้สลักสำคัญกับชีวิตมาก เราอยากเก็บพื้นที่ไว้ให้กับงานสักชิ้นใหญ่มากกว่า แต่คนที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิดได้กลับเป็นคนที่ยังไม่มีแม้แต่รอยสักเดียวซึ่งก็คือแฟนเรานั่นเอง ฮีพยายามหาบทความในเนทและวิดิโอต่างๆมาให้เราดูเพื่อเป็นการยืนยันว่า เพียงแค่เราชอบรูปใดรูปนึงมากๆโดยที่รูปนั้นไม่ต้องมีความหมายยิ่งใหญ่ มันก็ควรค่าที่เราจะสักไว้แล้ว

ทีนี้มาพูดถึงแรงบันดาลใจกันบ้าง หลังจากที่เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบใจงานสไตล์ไหน แต่เชื่อว่าหลายๆคนก็ยังตันอยู่ดีว่าก็แล้วฉันจะสักเป็นรูปอะไรในสไตล์นั้นละ ส่วนตัวเรามีวิธีค้นหาแรงบันดาลใจหลักๆอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน แยกเป็นข้อตามนี้

1. เสพย์งานสักในเน็ต

เป็นวิธีที่ง่ายมากสำหรับยุคนี้ หาคลิป รูป บทความ บล็อก อะไรก็ตามเท่าที่จะหาได้เกี่ยวกับรอยสักสไตล์ที่สนใจมาดู ดูไปเรื่อยๆแนวทางที่เราต้องการจะออกมาเอง
2. ใช้ศิลปะเป็นตัวช่วย

ข้อนี้จะดีมากสำหรับคนที่หลงใหลงานศิลปะหรืองานฝีมือแขนงอื่นอยู่แล้ว ออกไปเดินแกลอรี่หรือนั่งปักผ้าอยู่กับบ้าน ก็สามารถหาแรงบันดาลใจใหม่ๆได้เหมือนกัน
3. ดูหนังฟังเพลง



หนังและเพลงเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจชั้นดี เก็บเกี่ยวความประทับใจที่มีในเพลง หนัง หรือแม้แต่หนังสือเล่มโปรด แล้วเอามาสักทั้งประโยคก็ได้ หรือจะตีความจากตัวอักษรเป็นภาพก็ยังได้เลยนะ

อย่าขโมยรอยสักของคนอื่น!
หลายคนอาจจะลืมไปว่ารอยสักก็มีลิขสิทธิ์เหมือนกัน ไม่ต่างจากงานศิลปะหรืองานออกแบบชนิดอื่นๆ ซึ่งคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์เนี่ย #ไม่น่ารักเลย เราเข้าใจว่าเวลาที่เสพย์งานสักมากๆมันอาจจะทำให้เรานึกอยากได้งานแบบที่คนอื่นมีบ้าง เราอาจจะมองว่างานนั้นมันสวยมากๆ แบบว่า at it best ของมันแล้วอะ จนเรารู้สึกว่าถ้าปรับเปลี่ยนอะไรไปนิดหน่อยหรือมากจนเป็นแบบของเราเอง เราอาจจะไม่ชอบมันมากขนาดงานดั้งเดิมก็ได้ แต่การที่เราไปเอารูปงานที่อยู่บนตัวคนอื่นแล้วมาให้ช่างของเราสัก มันคือการขโมยดีๆนี่เอง งาน custom ส่วนมากล้วนมีเรื่องราวเบื้องหลัง เราอย่ามองแค่ผิวเผินว่ามันสวยและเราอยากได้ เราจะเอามันมาประดับร่างกายเราสวยๆทั้งที่มันไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไรเลยงั้นเหรอ จริงอยู่ว่าการที่เราอยากสักอะไรที่เราเห็นว่าสวยก็สักได้ แต่มันต้องไม่ใช่งานที่ชาวบ้านเขาออกแบบกันร่วมกับช่างเพื่อสักเฉพาะตัวของเขาว่ะ และความจริงแล้วมีแต่ช่างที่ไร้จรรยาบรรณเท่านั้นแหละที่จะทำให้ ด้วยเหตุผลอย่างเลวก็หน้าเงิน ไม่สนใจเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น อย่างแย่น้อยหน่อยคือปากหนัก ปฏิเสธลูกค้าไม่เป็นทั้งที่รู้ว่าตัวเองมือไม่ถึงที่จะคิดงานใหม่ให้ลูกค้า เลยเออๆออๆยอมทำตามไป แบบนี้เราพอเข้าใจนะ ปัญหานี้อาจจะเกิดได้กับช่างฝึกหัดที่อายุงานยังไม่มาก (ไม่น่าเกิน 2 ปี) ตามจริงเวลามีคนเอางานมาให้ก็อป ช่างรุ่นใหญ่เขาจะปฏิเสธไปตรงๆเลยว่าทำให้ไม่ได้ มันคือการละเมิด การขโมย บลาๆ แต่ผมสามารถเอางานนี้มาเป็นแรงบันดาลใจแล้วออกแบบใหม่ได้ในสไตล์ของผมเอง ให้ได้ฟีลตามที่คุณอยากได้ ช่างมือโปรฯจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ให้ลูกค้าได้ ถ้าช่างที่เก่งจริงๆทำได้แน่นอนเรารับประกัน พวกช่างหัดใหม่อาจจะยังไม่สามารถออกแบบงาน custom ให้เป็นที่พอใจของลูกค้าได้ หลายคนยังหาสไตล์ตัวเองไม่เจอ อันนี้ช่างคนไหนที่คุณธรรมสูงเขาจะปฏิเสธเลยว่าตัวเองวิทยายุทธยังไม่แก่กล้าพอ ขอไม่รับแล้วกันงานนี้ ซึ่งลูกค้าดีๆไม่ทำตัวเป็นมนุษย์ป้าก็น่าจะเข้าใจช่างอะ

จะบอกให้ว่ามีช่างบางคนถึงขั้นก็อปงานช่างคนอื่นไปลงประกวดด้วยซ้ำ แถมได้รางวัลชนะเลิศก็ฉลองกันหน้าชื่นตาบานซะด้วย โชคดีนะที่ไม่ใช่ช่างไทย ช่างที่มีพฤติกรรมแบบนี้เป็นได้แค่ tattooer (คนสัก) เท่านั้นแหละ ไม่ได้เป็น tattoo artist (ช่างสัก) หรอก

ลายสัก custom เป็นยังไง?

รู้จักคำว่า custom made มั้ยละ มันก็คือสินค้าอะไรที่ออกแบบและสั่งทำมาเฉพาะตัวเพื่อลูกค้าคนนั้นแต่เพียงผู้เดียวนั่นแหละ และสินค้าในที่นี้ก็คือรอยสัก ส่วนมากรอยสัก custom จะพูดถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์อะไรที่เป็นความประทับใจ ความทรงจำ หรือเรื่องเตือนใจ ลูกค้าจะต้องออกไอเดียให้ช่างไปร่างแบบมา บอกด้วยละว่าอยากได้ไว้ตรงไหน หรือจะร่างเองคร่าวๆก่อนก็ได้ถ้าพอจะมีความสามารถด้านการออกแบบอยู่บ้าง แล้วช่างจะตบๆให้ทุกอย่างเข้าที่เอง

และไม่ว่าจะสัก custom หรือทั่วไป ก็ควรจะเตรียม reference ไปด้วย บางทีการพูดปากเปล่าอาจจะเข้าใจกันไม่ชัด วิธีการเอารูปแบบที่คล้ายๆกับที่อยากได้มา แล้วเขียนบรรยายประกอบว่าอยากให้ปรับขนาดยังไงหรือเปลี่ยนสีเป็นสีไหน

โดยเฉพาะเรื่องสีควรมีตัวอย่างไปด้วย เพราะคนเราเห็นภาพสีในจินตนาการคนละแบบจากคำพูดเดียวกัน คนนึงบอกสีพีชแต่อีกคนนึกไปถึง coral แบบนี้ก็มี เพราะงั้นเอาภาพของสีที่ใกล้เคียงกับที่ต้องการไปให้ช่างเห็นเลยจะดีกว่า


(ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)